ความพร่องการสร้างใยร่างแหของนิวโทรฟิลในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี
โรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมในการสร้างเบต้าโกลบิน ผู้ป่วยมีภาวะซีด ภาวะเหล็กเกิน บางรายอาจมีภาวะ hypersplenism ร่วมด้วยจึงต้องทำการตัดม้ามเพื่อการรักษา ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งภาวะการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่สอง รองลงมาจากโรคหัวใจล้มเหลวในประเทศที่พัฒนาแล้ว เชื้อก่อโรคที่สำคัญและพบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ Escherichia coli (26%), Klebsiella pneumoniae (23%), Salmonella (15%) และ Streptococcus pneumoniae (13%)
นิวโทรฟิล เป็นเซลล์ปฐมภูมิที่มีหน้าที่ในการกำจัดทำลายเชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรีย หน้าที่ที่สำคัญได้แก่ การเคลื่อนที่จากกระแสเลือดไปสู่เนื้อเยื่อบริเวณที่มีการติดเชื้อ การจับกินเชื้อก่อโรค การทำลายเชื้อโรคและการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยวิธีการปล่อยสายดีเอ็นเอออกมาเป็นใยร่างแห (neutrophil extracellular trap, NET) เพื่อดักจับเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจาย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างและหน้าที่ของ NET ในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอีในภาวะติดเชื้อ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
ในงานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นเพื่อศึกษาการตอบสนองของนิวโทรฟิลจากผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอีในการสร้าง NET ภายใต้ภาวะติดเชื้อและภาวะเหล็กเกิน
โดยการศึกษานี้ทำให้สร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของนิวโทรฟิลในการสร้าง NET ภายใต้ภาวะติดเชื้อและภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี ทั้งที่ตัดม้ามแล้วและยังไม่ได้ตัดม้าม เพื่อใช้เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อ ตลอดจนการรักษาตรงจุด สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมีย
